TakeMeTour: ท่องเที่ยวประสบการณ์เจาะลึกกับเจ้าถิ่น วิน ทั้งคนนำและคนเที่ยว
ทาโร่ - อมรเชษฐ์ จินดาอภิรักษ์’ CEO & Co-Founder, TakeMeTour
เมื่อไรก็ตามที่สวมบทบาทเป็นนักท่องเที่ยว นั่นหมายความว่าคุณกำลังเปลี่ยนบทจากชีวิตโหมดปกติ ไปเป็น นักล่าประสบการณ์ และโดยมากแล้ว ประสบการณ์ที่คุณมุ่งหวังอยากได้ เพื่อให้คุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป (ซึ่งบางครั้งอาจต้องแลกมากับการทำงานถึง 2-3 เดือน) ก็มักจะเป็นประสบการณ์ที่พบได้น้อยเหลือแสน บนโลกแห่งการเสิร์ชข้อมูล ยิ่งอันซีนเท่าไรยิ่งดี แต่ครั้นจะพึ่งพาบริษัททัวร์ ก็กลัวจะได้รับประสบการณ์แบบ ‘ทัวร์ชะโงก’ อย่างที่หลายคนเคยพบเจอ นั่นคือช่องว่างสำคัญที่ทำให้ ‘อมรเชษฐ์ จินดาอภิรักษ์’ CEO & Co-Founder แห่ง TakeMeTour เทค-สตาร์ทอัพ (Tech Startup) ไฟแรง สร้างโมเดลธุรกิจมาอุดช่องโหว่ ด้วยการเป็นมาร์เก็ตเพลสช่วยสรรหาทริปอันแสนคุ้มค่าจากเจ้าถิ่นตัวจริง มานำเสนอแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งไอเดียตั้งต้นของธุรกิจนี้ เจ้าของความคิดเล่าให้เราฟังว่า ได้มาเพราะ ‘พาเพื่อนเที่ยว’
“พื้นฐานของผมเป็นคนชอบเที่ยว ยิ่งตอนที่ผมใช้ชีวิตเป็นนักศึกษาอยู่ที่ยุโรป ยิ่งเที่ยวบ่อย เวลาจะไปเที่ยวแต่ละที่ก็จะพยายามหาว่ามีเพื่อนอยู่ประเทศไหนบ้าง เพื่อจะขอให้เขาพาเที่ยว หรือเวลามีคนมาหาเรา เขาก็จะขอให้เราพาเที่ยว เลยเกิดไอเดียว่าการที่ให้เจ้าถิ่นพาเที่ยวเป็นรูปแบบที่เวิร์ค เพราะเขาจะรู้ว่าควรไปที่ไหน กินอะไร ซื้ออะไรถึงคุ้ม ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เสิร์ชหาได้ตามอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะกับประเทศไทยที่ภาษายังเป็นอุปสรรคสำคัญ ผมเชื่อว่าเหล่านักท่องเที่ยวกำลังมองหาสิ่งเหล่านี้อยู่ ซึ่งอันที่จริง ผมทดลองใช้โมเดลนี้กับการนำคนไทยไปเที่ยวเมืองนอกก่อน หมายความว่า เวลาคนไทย ไปต่างประเทศ เราก็จะมีนักเรียนไทยหรือคนไทยเป็นคนนำเที่ยว พอเริ่มทำได้สักพักหนึ่ง ปรากฏว่าได้รับการดี จนเรารับมือไม่ไหว เลยเริ่มมองหาเครื่องมือ ก็คือเว็บไซต์มาเพื่อช่วยทำงาน”
ระหว่างการปรับตัวกับเครื่องมือใหม่นี้เอง ที่ทำให้อดีตพนักงาน Google ได้เรียนรู้การพลิกวิกฤติ ให้เป็นโอกาส และทำให้เกิดโมเดลปัจจุบันของ TakeMeTour
“อุปสรรคใหญ่ๆ ในตอนนั้นคือ คนไทยไม่คุ้นชินกับการใช้งานเว็บไซต์เพื่อสั่งจองบริการต่างๆ อีกทั้งการจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิตในระบบออนไลน์ก็ยังไม่เป็นที่นิยม แม้เราจะมีเครื่องมือไฮเทคเพียงไหน ลูกค้าก็ยังการโทรศัพท์หรือแชทมาหาอยู่ดี แต่เราเชื่อมั่นว่าเว็บไซต์เป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพจริงๆ เลยตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ เปลี่ยนกลับโมเดลเป็น INBOUND จากให้บริการคนไทยที่ไปเที่ยวต่างประเทศ เป็นให้บริการคนต่างประเทศที่เข้ามาเที่ยวเมืองไทย เพราะคนกลุ่มนี้จะคุ้นชินกับการจองทุกรูปแบบ และจ่ายเงินบนโลกออนไลน์”
ในยุคที่ สตาร์ทอัพ คือคำที่น้อยคนนักจะรู้จัก TakeMeTour ดำรงสถานะนั้นโดยไม่รู้ตัว โดยมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ และเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของประเทศไทยเป็นตัวขับเคลื่อน ให้เทค-สตาร์ทอัพนี้ค่อยๆ ขยับไปข้างหน้า แม้จะมีผู้เล่นหลากหลายสัญชาติที่มองเห็นแววรุ่งในตลาดเดียวกัน แล้วโดดเข้ามาแย่งชิงพื้นที่ส่วนแบ่ง แต่การที่ TakeMeTour เป็นเจ้าแรกในประเทศไทย ที่ยึดฐานเมืองไทย ไว้ได้ก่อน เป็นข้อได้เปรียบอย่างยิ่ง เพราะถ้ามองข้ามเรื่องการบริหารทุกส่วนได้อย่างสะดวกง่ายดาย ในบ้านของตัวเองไปแล้ว ก็คงไม่มีใครรู้จักและเข้าใจบริบทแบบไทยๆ ได้ดีมากไปกว่าคนไทยด้วยกันเอง
“ผมสังเกตผมว่าคู่แข่งที่ทำตลาดคล้ายๆ กันส่วนใหญ่เป็นต่างชาติทั้งนั้น ซึ่งการที่เราเป็นมาร์เก็ตเพลส สัญชาติไทยแล้วตั้งฐานอยู่ในไทย จะเป็นข้อดีในการบริหาร ทั้งฝั่ง Demand คือนักท่องเที่ยว และฝั่ง Supply ซึ่งเป็นคนท้องถิ่น โดยเฉพาะการบริหาร Supply นั้นจะสำคัญมากในประเทศที่มีภาษาเป็นอุปสรรคสูงอย่างไทย ต่อให้เป็นทีมจากต่างชาติเข้ามาทำ เขาก็ไม่รู้จักเราเท่ากับเรารู้จักตัวเอง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เราเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะนี้เรามี Local Expert หรือเจ้าถิ่นนำเที่ยวมืออาชีพร่วมลงทุน อยู่ประมาณ 10,000 คน ต่างจากคู่แข่งอันดับ 2 อยู่ประมาณ 10 เท่า”
TakeMeTour ให้บริการแบบ One Day Trip ซึ่งจะเป็นทัวร์ที่ออกแบบและนำเที่ยวโดยคนท้องถิ่น ในราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 200 บาทขึ้นไป นักท่องเที่ยวสามารถที่จะบริหารประสบการณ์การท่องเที่ยวของตัวเองได้ตามใจชอบ ตามCategories ที่มีให้เลือกกว่า 10 หมวดหมู่ นักท่องเที่ยวจะสามารถเฟ้นหา Local Expert ที่ถูกใจเองได้ จากโปรไฟล์การรีวิวที่ผ่านมา หรือจากการแนะนำของเว็บไซต์ (ในกรณีที่เป็น Local Expert รายใหม่) ทว่า ไม่ใช่ใครก็ได้ ที่จะมีสิทธิ์พาเที่ยว เพราะ TakeMeTour เข้มงวดกับการกวดขันมัคคุเทศก์ท้องถิ่น ไม่ใช่เล่นๆ
“จริงๆ แล้ว เราเชื่อว่าทุกคนพาเที่ยวได้หมด สมมุติว่าพรุ่งนี้มีเพื่อนมาเมืองไทยบอกว่าให้ช่วยพาเที่ยว เราก็พาเที่ยวได้เลย แต่ถ้าทำในระดับธุรกิจแบบนี้ จะมีเรื่องให้ต้องพิจารณาเพิ่มเติมอีก 2 เรื่อง คือ ความปลอดภัยและคุณภาพ ซึ่งเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญมาก เพราะเราเชื่อว่ายังไงความปลอดภัยต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง ทุกคนที่เข้ามาเราตรวจสอบอย่างละเอียดเข้มงวด ส่วนเรื่องคุณภาพ เป็นเรื่องที่เราคิดมาตั้งแต่แรกว่าเราจะควบคุมคุณภาพอย่างไร เพราะมันเป็นมุมมองเฉพาะบุคคล เช่น ผมอาจมองว่าประทับใจ แต่คุณอาจมองว่าเฉยๆ ซึ่งคนที่จะบอกได้จริงๆ คือลูกค้าที่ไปเที่ยว แล้วกลับมารีวิวให้ บางคนจบทริปแอดเฟซบุ๊คเป็นเพื่อนกันไปเลยก็มี ผมมองว่าตรงนี้คือคุณค่ามากกว่า ที่จะมองว่าครั้งหน้าลูกค้าจะดีลกับ Local Expert โดยตรงโดยไม่ผ่านเรา เพราะผมเชื่อว่า ถ้าเขามาเมืองไทยอีกครั้ง เขาก็คงไม่อยากได้ประสบการณ์ที่ซ้ำๆ เดิมๆ จากเมืองไทยแน่นอน ส่วนในกรณีที่เป็น Local Expert เข้าชิงใหม่ ยังไม่มีคะแนนรีวิว ถ้าเขาออกแบบทริปได้น่าสนใจ ในราคาคุ้มค่า เราก็จะดึงมาโปรโมทที่หน้าแรกของเว็บไซต์"
ลูกค้าส่วนใหญ่ที่กำเงินมาใช้บริการของ TakeMeTour จะเป็นกลุ่มประเทศที่อยู่ใกล้ประเทศไทย ในรัศมีการเดินทางโดยเครื่องบินประมาณ 1 - 4ชั่วโมง ประเทศในกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มประเทศที่มาบ่อย มาถี่ และมาคงที่ ไม่เว้นแม้แต่ช่วงโลว์ซีซั่น ในขณะเดียวกัน ลูกค้าที่เป็นคนนำเที่ยวท้องถิ่นก็ได้รับความสำคัญ ไม่ยิ่งหย่อน จะเห็นได้จากการรับฟังข้อเสนอแนะของทั้งสองฝั่ง เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนา TakeMeTour ให้ครองใจผู้บริโภคได้ต่อไป
"เรามีลูกค้าทั้งสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งเป็นลูกค้าที่มาใช้บริการ อีกฝั่งเป็นลูกค้าที่มาใช้ระบบ ซึ่งความยากของการเป็น มาร์เก็ตเพลสคือ เราต้องทำหน้าที่ให้ดีทั้งสองฝั่ง เราจึงมีมุมที่ออกไปสำรวจตลาดว่านักท่องเที่ยว มองหาอะไรอยู่ รวมถึงมีการประเมินการทำงานจากลูกค้าแล้วเก็บฟีดแบคมาพัฒนาต่อไป จากการฟังลูกค้าก็ทำให้เรามีแอพพลิเคชั่นเกิดขึ้น ทั้งที่ในความเป็นจริงเราพัฒนาเว็บไซต์ให้ Mobie Responsive ทำทุกอย่างได้ผ่านเว็บไซต์บนมือถือ เพราะเอาเข้าจริงๆ นักท่องเที่ยวเดินทางมาเมืองไทยปีหนึ่งอย่างมากก็ 4 -5 ครั้ง การที่เราจะสร้างแอพพลิเคชั่นเพื่อให้คนเข้ามาใช้ประจำ จึงเป็นสิ่งไม่คุ้มค่า แต่ที่เราต้องมีแอพพลิเคชั่น เพราะทางฝั่งคนนำเที่ยวท้องถิ่นเขาต้องการ เนื่องจากข้อดีของแอพพลิเคชั่นคือ จะแจ้งเตือนเวลามีรายการจองเข้ามา ซึ่งจะสะดวกกับคนนำเที่ยว หรือหากมีฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่ลูกค้าทั้งสองฝั่งต้องการ เราก็ต้องเอามาทดสอบก่อนว่าเวิร์คหรือไม่ เป็นความคิดของลูกค้าคนเดียว หรือเป็นความคิดของลูกค้าส่วนใหญ่ หากทดสอบแล้วว่าเหมาะกับเรา ก็ยินดีจะอัพเดทไปเรื่อยๆ"
การติดต่อกับลูกค้าทั้งสองฝั่ง ทำให้เกิดงานเอกสารมากมาย โดยเฉพาะเอกสาร ทางตัวเลขบัญชี ที่ยังคงต้องมีหลักฐานเป็นกระดาษสำรองไว้อยู่ รวมถึงการสร้างสรรค์ผลงาน สำหรับนำเสนอลูกค้า ซึ่งเขามองว่าหากพรินท์เอกสารมาประกอบการนำเสนอ จะทำให้ลูกค้าสามารถโฟกัสที่ชิ้นงานของเขา ได้ดีกว่าการพูดกับสไลด์ลอยๆ นั่นจึงทำให้เขาเห็นความสำคัญของพรินท์เตอร์ โดยพรินท์เตอร์ที่ตอบโจทย์ เขายกให้พรินท์เตอร์สามารถสั่งพรินท์งาน Wi-Fi ไร้สายระโยงระยางกวนใจ ง่ายต่อการเคลื่อนย้ายและสั่งงาน
ครั้นเมื่อตั้งคำถามถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ TakeMeTour ผู้บริหารหนุ่มก็เผยชัด อย่างคนที่รู้เท่าทันว่า มันคือผลิตผลจากวิวัฒนาการของการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ นั่นคือการท่องเที่ยว ที่เน้นประสบการณ์ประกอบกับความป๊อปปูลาร์ของ Airbnb รวมถึงโลกไร้พรมแดนจนทำให้สถานที่ท่องเที่ยว ที่เป็นแลนด์มาร์คสำคัญๆ ไม่อยู่ในความสนใจของผู้คนมากเท่าที่เคย และถูกแทนที่ด้วยการท่องเที่ยวเชิงลึก เพราะมีมิติ และมีคุณค่าในความเป็นมนุษย์มากกว่า ซึ่งนี่จะเป็นความยั่งยืน ที่ทำให้ TakeMeTour หายใจทั่วท้ต่อนองบนธุรกิจนี้ต่อไปได้อย่างยาวนาน กระทั่งเข้มแข็งพอที่จะแบ่งกำลังไปสู้รบปรบมือต่อ กับตลาดนอกประเทศได้
"เรามีความตั้งใจว่า เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เราจะขยายตลาดนี้ออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพราะจากการวิเคราะห์แล้ว ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงมีศักยภาพทางการท่องเที่ยวที่สูง ซึ่งกลุ่มประเทศที่เรามองไว้ คือ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย เมียนมาร์ ฯลฯ ถ้าสังเกตจะพบว่าแต่ละประเทศเป็นประเทศกำลังพัฒนา คล้ายกับประเทศไทย"
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลานี้ที่เป็นเวลาน้ำขึ้นของ TakeMeTour เพราะการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กำลังโปรโมทธีม Local Experience ชวนสัมผัสกับประสบการณ์วิถีไทย ซึ่งอันที่จริงไม่ใช่แค่ชาวต่างชาติ แต่คนไทยอย่างเราๆ ท่านๆ ก็อาจจะยังไม่รู้จักเมืองไทยดีพอ หากลองเปลี่ยนเดสติเนชั่นจากต่างแดนมาเที่ยวเมืองไทย แล้วลองใช้บริการคนไทยและเที่ยวเมืองไทยกันดูบ้าง ก็น่าจะดีไม่น้อย
website : www.takemetour.com