Ginja
อยาก ‘กิน’ ใช่ไหม เดี๋ยว ‘กินจา’ ส่งให้นาจา
นิค มอร์เกนสเติร์น (Nick Morgenstern) CEO & Co-Founder, Ginja

อยาก ‘กิน’ ใช่ไหม เดี๋ยว ‘กินจา’ ส่งให้นาจา

นิค มอร์เกนสเติร์น (Nick Morgenstern) CEO & Co-Founder, Ginja

“คุณเคยอยากกินอะไรบางอย่างมากๆ แต่ร้านอยู่ไกล ไปยาก จนไม่อยากกินบ้างไหม?”

คำถามนี้เป็นของ ‘นิค มอร์เกนสเติร์น’ เขายื่นคำถามง่ายๆ กับเรา ซึ่งเราก็พยักหน้าตามอย่างเห็นด้วยเพราะเราเองก็เคย และในความเป็นจริงปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับเราแค่คนเดียว แต่มักจะเกิดขึ้นกับใครหลายคนที่จู่ๆ ก็เกิดอยาก จะกินอะไรสักอย่างขึ้นมาแต่ประสบปัญหาไกลไป รถติด และสุดท้ายก็ไม่กินมันซะเลย /จบ

ใช่ - นิคมองเห็นว่านี่คือปัญหา และมองเห็นโอกาสที่จะสร้างธุรกิจในปัญหา

เขาจึงตัดสินใจทำธุรกิจบริการส่งอาหารทุกอย่างที่ลูกค้าอยากจะกินในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล บริการของเขามีชื่อว่า Ginja โดย นิค คือ CEO วัย 41 ปีเป็นผู้ก่อตั้ง Tech Startup ที่ให้บริการส่งอาหารทุกอย่างที่คุณสั่ง ไม่ว่าอยากจะกินอะไรตอนไหน ถ้าร้านยังไม่ปิด อยู่ในพื้นที่ให้บริการ และอยู่ในช่วงเวลาทำการ Ginja จะเอาอาหารไปส่งถึงหน้าบ้าน และอีกบริการหนึ่งคือเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกับร้านอาหารต่างๆ เพื่อให้บริการส่งอาหารโดยที่ร้านค้าไม่จำเป็นต้องมีระบบขนส่งเอง อีกทั้งสามารถบริหารสต็อคได้ด้วยโดยไม่ต้องกังวลว่าสั่งสินค้าไปแล้วจะเหลือทิ้งหรือไม่พอให้บริการ

“Ginja เป็นธุรกิจ food delivery ซึ่งเราไม่ได้เพิ่งเริ่มต้นทำเลย ก่อนหน้านั้นมีการสำรวจตลาด และพบว่าธุรกิจ ส่งอาหารสามารถทำเงินได้ และมีความต้องการเราพบว่าในกรุงเทพฯ มีลูกค้าอยู่ในปริมาณที่น่าสนใจ ก่อนหน้านั้นมีคู่แข่งที่ให้บริการคล้ายกับในสิ่งที่เราคิด แต่มีข้อจำกัดบางอย่างที่เราเห็นว่าเป็นจุดที่สามารถพัฒนาบริการของตัวเองได้ ผมกับ ผู้ก่อตั้งเลยคิดค้นโซลูชั่นเพื่อการให้บริการส่งอาหาร ที่ครอบคลุมและตอบโจทย์ ไม่เพียงแต่ให้บริการลูกค้าที่สั่งอาหารเท่านั้น แต่เรายังเป็นพันธมิตรกับร้านอาหารที่ต้องการให้มีบริการเดลิเวอร์รี่ด้วย ซึ่งบริการของเราจะช่วยลดต้นทุนทางการบริหารด้านฝ่ายจัดส่งสินค้าให้พาร์ทเนอร์อย่างเสร็จสรรพ อีกทั้งยังราคาถูกยุติธรรมกับพาร์ทเนอร์”

“เรามีการลงทุนด้านการตลาดกับการลงทุนด้านเทคโนโลยีควบคู่ไปด้วยกัน อย่างที่บอกว่าผู้ให้บริการธุรกิจที่คล้ายกับเราก่อนหน้ามีการเก็บค่าใช้จ่ายกับร้านค้าที่เป็นพันธมิตรสูงมาก เราจึงเข้าไปคุยกับหลายบริษัทเพื่อดูว่าพวกเขาทำการตลาดกันอย่างไรในการให้บริการด้านเดลิเวอร์รี่ เราพบว่าพวกเขามีความต้องการขนส่งอาหารให้ลูกค้าแต่เทคโนโลยียังไม่เอื้อประโยชน์มาก อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายที่มากเกินไป เรามองเห็นช่องทางในการพัฒนาบริการที่ดี มีเทคโนโลยีพร้อมสนับสนุนเราจึงตัดสินใจเปิดให้บริการ Ginja ขึ้นมา ในขณะที่คู่แข่งทางธุรกิจของเราก็เหมือนจะถอนตัวออกไปจากตลาดแล้ว”

ปัจจุบันแม้ Ginja จะเปิดให้บริการในเมืองไทยแค่เพียงไม่กี่เดือน แต่ธุรกิจก็เติบโตได้อย่างน่าพอใจมีลูกค้าเพิ่มขึ้นมากมาย ขณะเดียวกันก็มีพันธมิตรพร้อมเข้ามาจอยกับทาง Startup รายนี้

“เราเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีเวลาอีกหลายปีที่จะพัฒนาบริการให้เติบโตไปพร้อมกับร้านอาหารต่างๆ ตลอดเวลาไม่กี่เดือน Ginja เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง โดยเฉพาะการได้เป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจร่วมกับร้านอาหารแบรนด์ดังอย่าง BonChon และ Au Bon Pain ซึ่งเขาเสียค่าบริการกับเราที่น้อยเพื่อแลกกับการใช้เทคโนโลยีและบริการของในการช่วยส่งอาหารซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาอยากได้ฟีเจอร์ไหนจากบริการที่เรามี ในจำนวนค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่น้อยมากทำให้ร้านไม่มีต้นทุนเพิ่ม”

“นอกจากนี้ที่ผ่านมาเราได้ทำการสร้างแบรนด์โดยเราได้คุณวู้ดดี้ (วุฒิธร มิลินทจินดา) มาเป็นหุ้นส่วน รวมไปถึงเป็นพรีเซ็นเตอร์ทดลองการใช้บริการของร้าน ปรากฎว่ายอดการใช้งานบริการของ Ginja เพิ่มเยอะมาก ก่อนหน้านั้นเราศึกษาความเป็นไปได้ของการทำธุรกิจอยู่ราวๆ 6 เดือน มาวันนี้ผลตอบรับดีมาก”

ปัจจุบันนี้มีร้านอาหารกว่า 80 แบรนด์ที่เป็นพันธมิตรกับทาง Ginja และในแต่ละวันมีลูกค้าใช้บริการในแต่ละวันอยู่ในจำนวนที่น่าพอใจ แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้นยังมีอีกหลายอย่างที่ Ginja พร้อมรอการท้าทาย

“เรามีร้านอาหารจาก 80 แบรนด์ รวมแล้วกว่า 500 ร้านที่เป็นพันธมิตรและใช้บริการฟีเจอร์ของ Ginja ในวันนี้บริการของเราถือว่าสมบูรณ์ แต่ก็ถือเป็นการเรียนรู้ขั้นตอนการทำงาน เรามีการทดสอบบริการและระบบอีกหลายอย่าง เพื่อที่จะเสริมการให้บริการที่ครอบคลุมร้านอาหารทุกประเภท และถ้าเป็นไปได้เราอยากจะให้บริการให้ครบทั่วประเทศ เราต้องเรียนรู้อีกเยอะ นี่เป็นวิถีทางของ Startup ที่ต้องใช้เวลาให้การทำให้โปรดักส์ดีขึ้น เราต้องฟัง ต้องศึกษาให้มาก มันดูเหมือนเป็นเรื่องยากที่ร้านอาหารจะใช้โปรดักส์ของเรา แต่เราพยายามจะบอกเขาว่าหากมาใช้โปรดักส์ของ Ginja มาช่วยเสริมการให้บริการในรูปแบบเดลิเวอร์รี่ อย่างไรก็ตาม ก่อนมองในโอกาสถัดไป วันนี้เราต้องมั่นใจในโปรดักส์ของตัวเองก่อน”

“เราทำธุรกิจด้วยความสนุก และผมชอบความท้าทาย ชอบแก้ปัญหา ปัญหาก็คือความท้าทายอย่างหนึ่ง ไม่ว่าธุรกิจไหนก็มีปัญหาให้แก้ทั้งนั้นเป็นเรื่องปกติ และตราบใดที่คุณทำงาน ปัญหาพร้อมจะวิ่งเข้าหาคุณทุกวัน ดังนั้นเราจึงทำเท่าที่เราจะทำได้ และโฟกัสความท้าทายไปยังกระบวนการของธุรกิจเรา ตลอดระยะเวลาที่เราได้เรียนรู้จากการทำธุรกิจนี้ที่เมืองไทยคือความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญ ลูกค้าในเมืองไทยเน้นความน่าเชื่อถือเป็นหลัก เมื่อเรามาสร้างธุรกิจที่นี่ จึงต้องสร้างบริษัทที่น่าเชื่อถือ อีกทั้งเราต้องหมั่นทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของผู้บริโภคว่าต้องการอะไร และจะสร้างโปรดักส์อะไรไปตอบโจทย์ในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ มันจำเป็นมาก ดังนั้นตรงจุดนี้คือกุญแจไปสู่ความสำเร็จ”

ในอนาคต Ginja จะไปในทิศทางไหนต่อเรายื่นคำถามให้ CEO หนุ่ม เขาหยิบกระดาษแผ่นใหญ่ให้เราดู ซึ่งรูปร่างหน้าตาคล้ายกับอินเตอร์เฟซของแอพพลิเคชั่นก่อนจะช่วยเราคุยต่อ

“ถ้าในระยะเวลาอันใกล้ เรากำลังจะเปิดให้บริการแอพพลิเคชั่น Ginja” นิคตอบคำถามเรา

“สิ่งที่เห็นในกระดาษแผ่นนี้ เราพัฒนามานาน เพราะแอพฯ คือกลยุทธ์หลักในการบุกเจาะตลาดลูกค้า สิ่งที่เราแน่ใจก็คือคนไทยนิยมใช้มือถือมากกว่า ซึ่งต่างจากลูกค้าในประเทศอื่นอย่างในออสเตรเลีย พวกเขานิยมใช้คอมพิวเตอร์หรือโน๊ตบุค ซึ่งเราก็ต้องพัฒนาโมบายแอพฯ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าคนไทย ในเอกสารที่เราให้ดูนั้น เราใช้พรินเตอร์ของ Epson เพราะพรินเตอร์ยังเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะการเป็นส่วนหนึ่งในงานออกแบบไม่ว่าจะออกแบบหน้าตาเว็บไซต์ รูปแบบของแอพฯ โลโก้ เรายังคงต้องทำทุกอย่างลงบนกระดาษ การแก้ไขเพิ่มเติมในเบื้องต้นก็ทำได้ง่ายกว่า และที่สำคัญภาพก็สวยและคมชัด ทุกคนในทีมเห็นภาพรวมไปด้วยกัน พรินเตอร์ของ Epson จึงตอบโจทย์การทำงานในด้านนี้ของเรา

ส่วนอนาคตที่ไกลกว่านั้น Ginja ก็ยังคงจะอยู่ในธุรกิจขนส่งอาหารแต่การให้บริการจะกว้างขึ้น

“เราพยายามที่จะทำให้โปรดักส์ของเราอยู่ในธุรกิจเดลิเวอร์รี่ แต่เราจะเข้ามาแก้ไขในเรื่องการจัดส่งวัตถุดิบให้แก่ร้านอาหาร ตอนนี้ Ginja มีแผนที่จะขยายธุรกิจไปยังจังหวัดหัวเมืองใหญ่ๆ อย่างเชียงใหม่ ภูเก็ต แต่ในตอนนี้เราต้องสร้างความแข็งแรงของแบรนด์ และทำความเข้าใจในแง่ของโปรดักส์แก่ลูกค้า เรามีการทำการตลาดบนออนไลน์ เรามีวู้ดดี้เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ เรามีการทำการโฆษณาบนโทรทัศน์เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายในช่องทางอื่น”

“ไม่ใช่แค่ร้านอาหารในไทยเท่านั้น เรามองไปถึงการขนส่งวัตถุดิบของไทยไปยังต่างประเทศด้วย เราคิดว่าเรามีความสามารถที่จะส่งสต๊อกสินค้าให้กับร้านอาหาร ดังนั้นเราจึงมีตลาดที่ใหญ่ หลังจากนี้เราจึงต้องทำการทดสอบทั้งหมด และเราเข้าไปเป็นหนึ่งในตัวเลือกในการแก้ปัญหาต่างๆ ได้”

เมื่อถามถึงเป้าหมายสูงสุดในการทำธุรกิจ นิค นิ่งคิดชั่วครู่ก่อนจะยิ้มและตอบคำถามเราปิดท้าย

“ผมคิดว่าเป้าหมายสูงสุดสำหรับธุรกิจคือ โปรดักส์ของเรามีคนใช้เยอะ และแก้ปัญหาใหญ่ๆ ให้กับร้านอาหารได้ รวมถึงสร้างความสุขให้กับผู้ใช้บริการด้วย ”

website : www.ginja.co.th

Back